ในเขตจังหวัดสระบุรี
เคยพบเครื่องมือหินกะเทาะสมัยหินกลางที่ถ้ำพระงาม พบภาชนะดินเผา ลูกปัด
หอยเบี้ยม้วนทอง เครื่องประดับ และเครื่องใช้ ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่ถ้ำเทพนิมิต ธารทองแดง ตำบลพุคำจาน อำเภอพระพุทธบาท
พบภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาลม พระพุทธฉาย อำเภอเมือง ฯ หลักฐานต่าง ๆ
แสดงว่าในเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้มีคนมาอยู่แล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อย่างน้อยสมัยหินกลาง
ความเป็นอยู่ของคนในสมัยหินกลาง
จะอาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผาใกล้แหล่งน้ำที่เป็นห้วยลำธารหรือแม่น้ำ และไม่ไกลจากบริเวณที่มีหินกรวด
ดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บผลไม้มาบริโภคเช่นเดียวกับคนสมัยหินเก่า
แต่หาปลาได้เก่งกว่าคนสมัยหินเก่ามีเรือขุดใช้เมื่อตายมักเอาศพฝังไว้ใต้ที่อยู่
ศพมักจะอยู่ในลักษณะ นอนงอเข่าขึ้นมาถึงคาง โดยมากมักฝังทั้งตัว
แต่มีบางครั้งที่พบกระดูกส่วนต่าง ๆ ฝังรวมกันอยู่เป็นกอง นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุคทวารวดี
(พุทธศตวรรษที่ 11 - 16) เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้
พื้นที่ในเขตจังหวัดสระบุรี มีหลักฐานว่าอยู่ในยุคทวารวดี เช่น
ที่บ้านอู่ตะเภา ตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง สันนิษฐานว่า
เคยเป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดี ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย
พบภาพสลักนูนต่ำที่ผนังถ้ำ เป็นลักษณะศิลปกรรมสมัยทวาราวดี ที่ถ้ำเขาวง
(ถ้ำนารายณ์) ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท มีจารึกที่ผนังถ้ำด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษามอญโบราณ จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12
นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อปิแอร์ ดูปองท์ สันนิษฐานว่า
ผู้คนในสมัยทวาราวดีเป็นคนมอญที่อพยพมาอยู่ในถิ่นนี้ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 15
เพราะภาษาที่จารึกในสมัยนี้เป็นภาษามอญทุกแห่ง
เมืองสระบุรีนั้น ที่ตั้งตัวเมืองคราวแรก คงจะไม่ได้กำหนดเขตแดนไว้แน่นอนและยังไม่ปรากฏว่าเคยได้ตั้งผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองอย่างเป็นทางการ
แต่อย่างใดไว้คงจะแบ่งเอาบางส่วนจากแขวงเมืองลพบุรี แขวงเมืองนครราชสีมา
และแขวงเมืองนครนายก ตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ในคราวเดียวกันนั้น
ทั้งนี้เพราะเขตที่กันขึ้นเป็นเมืองสระบุรี เป็นเขตที่คลุมบางส่วนของลำแม่น้ำป่าสัก
สะดวกต่อการเดินทัพขึ้นไปทางภาคตะวันออก - ตะวันออกเฉียงเหนือ
และยังเคยเป็นเส้นทางที่พวกขอมสมัยโบราณเคยใช้เดินทางมาก่อนแล้วด้วย
ท้องที่อันเป็นเขตจังหวัดสระบุรี
แต่โบราณครั้งเมื่อพวกขอมยังเป็นใหญ่ในประเทศนี้ อยู่ในทางหลวงสายหนึ่ง
ซึ่งพวกขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่า นครธม)
ยังมีเทวสถานซึ่งพวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมืองปรากฏอยู่เป็นระยะมา
คือในเขตจังหวัดปราจีนบุรี มีที่อำเภอวัฒนานครแห่ง 1 ที่ดงศรีมหาโพธิ์แห่ง 1
ต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายก มีที่ดงละครแห่ง 1 แล้วมามีที่บางโขมด
ทางขึ้นพระพุทธบาทอีกแห่ง 1 ต่อไปก็ถึงลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลละโว้
ที่พวกขอมมาตั้งปกครอง แต่ที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งจังหวัดสระบุรี
หาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นเมืองสระบุรีเห็นจะเป็นเมืองตั้งขึ้นต่อเมื่อไทยได้ประเทศนี้จากขอมแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น